ปภ.ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่

 

 

## POLICE NEWS update PLUS ##

สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยนำเครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 แห่ง เข้าปฏิบัติการขุดสระกักเก็บน้ำ เชื่อมโยงเส้นทางน้ำและผันน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและ
อ่างเก็บน้ำไปยังแหล่งน้ำของประชาชน นำร่องดำเนินการในพื้นที่การเกษตรอำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 23 แปลง รวมพื้นที่ขุดสระน้ำกว่า 29 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และเป็นประโยชน์ต่อการรับน้ำในช่วงฤดูฝน
ซึ่งถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำให้มีความยั่งยืน


นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานที่ใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกเป็นหลัก ซึ่งน้ำฝนที่กักเก็บไว้ในเขื่อนต่างๆ มีสัดส่วนน้อยกว่า
ปริมาณฝนที่ตกลงมา จึงจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝน เพื่อให้มีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการผลักดันการก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหา


ภัยแล้งอย่างยั่งยืนด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนตามหลักการทฤษฎีใหม่
ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการแบ่งพื้นที่
ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ ปภ. จะคัดเลือกพื้นที่เสี่ยงภัยสูงจากวิกฤติน้ำที่มีสภาพพื้นที่เหมาะสม เพื่อวางระบบฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำ โดยใช้เครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 แห่ง เข้าปฏิบัติการขุดสระเชื่อมโยงเส้นทางน้ำและผันน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำไปยังแหล่งน้ำของประชาชน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2563 ปภ. โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เขต 5 นครราชสีมา ได้ร่วมกับจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชัยภูมิ นำร่องดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งฯ
ในจังหวัดชัยภูมิ โดยระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องมืออุปกรณ์ และยานพาหนะปฏิบัติการขุดสระน้ำในพื้นที่การเกษตร
ของประชาชนตามรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในอำเภอเมืองชัยภูมิ รวม 3 ตำบล จำนวน 23 แปลง รวมพื้นที่ดำเนินโครงการฯ 240 ไร่ 86 ตารางวา แยกเป็น ตำบลนาเสียว 13 แปลง ตำบลบ้านเล่า 3 แปลง และตำบลนาฝาย 7 แปลง โดยเป็นพื้นที่ขุดสระน้ำรวม 29 ไร่ 32 ตารางวา ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำรวม 45,898 ลูกบาศก์เมตร สนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตร 211 ไร่


54 ตารางวา ประชาชนได้รับผลประโยชน์ 23 ครัวเรือน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 19 แปลง คาดว่าประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2563 จะดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งฯ เสร็จสิ้นทั้ง 23 แปลง ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอแล้ว ยังถือเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กตามรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่
นายมณฑล กล่าวต่อไปว่า ในปี พ.ศ.2564 ปภ. จะขยายพื้นที่ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งฯ ไปยังพื้นที่เสี่ยงสูงจากปัญหาวิกฤตน้ำในจังหวัดความรับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง 18 แห่งๆ ละ 2 พื้นที่ จำนวน 36 พื้นที่รวมถึงมีเป้าหมายสานต่อการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งฯ ให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงสูงจากปัญหาวิกฤตน้ำทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และรองรับการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน นำไปสู่การสร้างความมั่นคง
ด้านทรัพยากรน้ำให้มีความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2558 – 2569 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed